ก่อนการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
กรณีผู้ประกอบการ ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการใดๆ ที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมีมูลค่าของฐานภาษี เกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม และกิจการดังกล่าวไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายแล้ว ผู้ประกอบกิจการนั้นมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มูลค่าฐานภาษีในการประกอบกิจการเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/1(8) มาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2 มาตรา 81/1 และตามมาตรา 85/1(1) แห่งประมวล-รัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 432) พ.ศ. 2548 กรณีนี้ หากไม่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นการประกอบกิจการโดยไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องรับผิดตามประมวลรัษฎากร ดังนี้
(1) เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 จากยอดรายรับ ตามมาตรา 80 และมาตรา 82(1) แห่งประมวลรัษฎากร
(2) เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียในเดือนภาษี ตามมาตรา 89(1) แห่งประมวลรัษฎากร
(3) เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ตามมาตรา 89/1 แห่งประมวล-รัษฎากร
(4) ต้องระวางโทษปรับ ตามมาตรา 90/2 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
จากกรณีดังกล่าว จึงมีประเด็นว่า กรณีผู้ประกอบการที่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย ภายหลังได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว จะมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกเก็บและที่ถูกเรียกเก็บก่อนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมายื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่?
ตามมาตรา 82/3 มาตรา 82/4 และ มาตรา 83 แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติให้เฉพาะผู้ประกอบการจดทะเบียนเท่านั้นที่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ซึ่งเรียกว่าภาษีขาย และมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี หากภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ ให้ผู้ประกอบการชำระภาษีเท่ากับส่วนต่างนั้น หากภาษีซื้อมากกว่า ภาษีขาย ให้เป็นเครดิตภาษีและให้ผู้ประกอบการนั้นมีสิทธิได้รับคืนภาษีหรือนำไปชำระภาษีมูลค่า-เพิ่มได้ ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่มแม้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย ก็ไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนรายอื่นเรียกเก็บก็ไม่อาจถือเป็นภาษีซื้อได้
ดังนั้น สิทธิและหน้าที่ของผู้ประกอบการในฐานะผู้ประกอบการจดทะเบียน จึงเริ่มตั้งแต่ ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกล่าวคือ มีผลนับแต่วันที่ระบุ ไว้ในทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการดังกล่าวจึงจะมีสิทธิและหน้าที่นำภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าซึ่งถือเป็นภาษีขาย และนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บจากผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่น ซึ่งถือเป็นภาษีซื้อเฉพาะที่เกิดขึ้นตั้งแต่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้นมาคำนวณเพื่อยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มโดยวิธีคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ และความเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่อาจมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่เกณฑ์รายรับของผู้ประกอบการสูงถึงขนาดที่มูลค่าของฐานภาษีในการประกอบกิจการเกินกว่ามูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมโดยอัตโนมัติ เว้นแต่ จะได้รับอนุมัติให้เป็นผู้ประกอบการ จดทะเบียนย้อนหลังจากอธิบดีกรมสรรพากร กรณีเช่นนี้ หากผู้ประกอบการจดทะเบียนนำ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกเก็บและที่ถูกเรียกเก็บก่อนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมายื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่ชอบ (ขอให้ศึกษาตัวอย่างต่อไปนี้ ซึ่งเป็นข้อสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วย ผู้พิพากษา ประจำปี พ.ศ.2549 วิชากฎหมายภาษีอากร ข้อ 7 สอบในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2550)
คำถาม บริษัท ชัย จำกัด และบริษัท เยี่ยม จำกัด ต่างประกอบกิจการขายสินค้ามีมูลค่าของฐานภาษีอยู่ในเกณฑ์ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายมาหลายปี แต่บริษัท
ทั้งสองเพิ่งจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกันเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2550 ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550 บริษัททั้งสองต่างยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยบริษัท ชัย จำกัด นำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกบริษัท เยี่ยม จำกัด เรียกเก็บในการซื้อสินค้าเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2550 จำนวนภาษี 50,000 บาท กับภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ตนเองเรียกเก็บจากบริษัท เยี่ยม จำกัด ในการขายสินค้าเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2550 จำนวนภาษี 20,000 บาท มาหักลบกันแล้วขอเครดิตภาษีจำนวน 30,000 บาท ส่วนบริษัท เยี่ยม จำกัด นำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกผู้ประกอบการ จดทะเบียนรายหนึ่งเรียกเก็บในการซื้อสินค้าเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2550 จำนวนภาษี 50,000 บาท และที่ถูกบริษัท ชัย จำกัด เรียกเก็บในการซื้อสินค้าเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2550 จำนวนภาษี 20,000 บาท กับภาษีมูลค่าเพิ่มที่ตนเองเรียกเก็บจากบริษัท ชัย จำกัด ในการขายสินค้าเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2550 จำนวนภาษี 50,000 บาท มาหักลบกันแล้วขอเครดิตภาษีจำนวน 20,000 บาท ให้วินิจฉัยว่า บริษัท ชัย จำกัด และบริษัทเยี่ยม จำกัด ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่า-เพิ่มชอบหรือไม่
คำตอบ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 82/3, 82/4 และ 83 บัญญัติให้เฉพาะผู้ประกอบการจดทะเบียนเท่านั้นมีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่า-เพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ซึ่งเรียกว่าภาษีขาย และมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการ ภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี หากภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ ให้ผู้ประกอบการชำระภาษีเท่ากับส่วนต่างนั้น หากภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายให้เป็นเครดิตภาษีและให้ผู้ประกอบการนั้นมีสิทธิได้รับคืนภาษีหรือนำไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ส่วน ผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแม้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย ก็ไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บก็ไม่อาจถือเป็นภาษีซื้อได้