กระแสของการรักษา สิ่งแวดล้อม Green Economy (หรือ Green Technology)
ในปัจจุบันกระแสของการรักษา สิ่งแวดล้อม ได้แพร่กระจายไปในทุกๆ สังคม และทุกๆ ประเทศทั่วโลก คำว่า Green Economy หรือ Green Technology คงจะไม่ใช่คำที่ไม่คุ้นหูคุ้นตากันอีกต่อไป เราจะเห็น ได้ว่าผู้ประกอบธุรกิจหลายธุรกิจในประเทศไทยได้มีการนำหลักของความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) ซึ่งรวม ไปถึงแนวความคิดของการพัฒนาที่ยั่งยืนและการรักษาสิ่งแวดล้อม เข้ามาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจเครือซิเมนต์ไทย นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ หรือแม้กระทั่งในหน่วยงานของราชการก็ตาม
หากพิจารณาจากทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ วัตถุประสงค์หลักของการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม ก็สืบเนื่องมาจากเหตุผล ที่ว่าต้นทุนทางสังคมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการผลิตสินค้าหรือกิจกรรมการให้บริการจะมีค่าสูงกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นๆ หากการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อสิ่งแวดล้อม (Negative Externality) ดังนั้นหากบริษัทไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบในทางลบเหล่านี้ก็จะทำให้มีการตัดสินใจผลิตสินค้าในปริมาณที่มากเกินไป ยกตัวอย่างเช่น บริษัทที่ผลิตอุปกรณ์ที่ใช้สาร CFC เพื่อ ช่วยทำความเย็น จะมีการผลิตในจำนวนที่มากเกินไป เนื่องจากในกระบวนการตัดสินใจเรื่องปริมาณการผลิตของบริษัทนั้น ไม่ได้มีการพิจารณาถึงต้นทุนทางสังคมของกิจกรรมการผลิตดังกล่าวต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ทำให้มีการคำนวณต้นทุนของบริษัทออกมาในระดับที่ต่ำเกินไปและส่งผลให้มีการผลิตสินค้าในปริมาณที่สูงเกินไปนั่นเอง
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศหลายๆประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศที่กำลังพัฒนา ได้มีการนำเครื่องมือ ทางภาษีมาใช้เพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่นมีการจัดเก็บ carbon tax หรือ petroleum tax หรือในบางประเทศก็ได้นำระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม เช่นค่าธรรมเนียมในการกำจัดขยะมูลฝอย มาใช้ เป็นต้น มาตรการด้านภาษีเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อให้ ผู้ผลิต หรือผู้ประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้นำต้นทุนทางสังคมหรือในที่นี้คือต้นทุนที่เกิดจากผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรมการผลิตของตนมาคิดเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตด้วย ซึ่งจะทำให้บริษัทหรือผู้ประกอบการธุรกิจได้มีจิตสำนึกในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น
สำหรับในบทความนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับตัวอย่างของภาษีที่มีการนำมาใช้เพื่อดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม แนวความคิดทางนโยบายเกี่ยวกับการนำภาษีสิ่งแวดล้อมมาใช้ ว่าในการนำภาษีดังกล่าวมาใช้นั้น รัฐบาลควรจะต้องมีการพิจารณาปัจจัยใดบ้าง ตลอดจนนำเสนอทิศทางของประเทศไทยต่อการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน และตัวอย่างของการนำภาษีสิ่งแวดล้อมมาใช้ในประเทศเยอรมัน
1.ประเภทของภาษีที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม
ภาษีที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมีอยู่หลากหลายประเภท แต่ในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างภาษี ที่อาจส่งผลกระทบไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ต่อสิ่งแวดล้อม 4 ประเภท ได้แก่ Pigouvian tax ภาษีสิ่งแวดล้อมทางอ้อม ภาษีอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อสิ่งแวดล้อมโดยไม่เฉพาะเจาะจง เช่น ภาษีสรรพสามิต หรือภาษีเงินได้ และ Earmarked tax
1.1 Pigouvian tax
Pigouvain tax เป็นวิธีการจัดเก็บภาษีที่คลาสสิกที่สุดในการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม การจัดเก็บภาษีประเภทนี้จะมีการกำหนดอัตราภาษีที่ตายตัวและแน่นอน โดยอัตราภาษีจะ คิดต่อปริมาณของการปล่อยของเสีย หรือต่อปริมาณของความเสียหายที่เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้น
อัตราภาษี Pigouvian tax จะถูกกำหนดให้เท่ากับต้นทุนส่วนเพิ่มทางสังคมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งหากพิจารณาในทางเศรษฐ-ศาสตร์พบว่าการกำหนดอัตราภาษี Pigouvian tax ที่เหมาะสมจะต้องทำให้ต้นทุนส่วนเพิ่ม (MarginalCost) เท่ากับประโยชน์ส่วนเพิ่ม (Marginal Benefit)ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้น
อัตราภาษี Pigouvian tax จะเป็นอัตราที่ตายตัวและไม่ได้ขึ้นอยู่กับมูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เนื่องจากอัตราภาษีจะถูกกำหนดโดยอิงกับปริมาณความเสียหายหรือปริมาณของเสียที่ถูกปลดปล่อยจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยไม่ได้ถูกกำหนดโดยราคาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าว
Pigouvian tax นับเป็นภาษีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เนื่องจากภาษีจะกระทบต่อต้นทุนของการปล่อยมลพิษหรือของเสียโดยตรง นอกจากนี้การจัดเก็บภาษีในลักษณะนี้ยังส่งผลให้ผู้ประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อ สิ่งแวดล้อมสามารถลดจำนวนการปล่อยมลพิษให้สอดคล้องหรือเป็นไปตามขนาดของการผลิต การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิต และการทดแทนปัจจัยการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม Pigouvian tax ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน เช่นในเรื่องของการกำหนดต้นทุนส่วนเพิ่มทางสังคม และอัตราภาษีที่เหมาะสม นอกจากนั้น ยังมีประเด็นปัญหาในเรื่องของการวัดผลการจัดเก็บภาษี การติดตามการจัดเก็บภาษีและปัญหาความสมัครใจในการเสียภาษี ซึ่งอาจส่งผลให้หลายๆประเทศไม่ได้นำภาษีประเภทนี้มาใช้เพื่อดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม แต่จะเลือกนำภาษีประเภทอื่นที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่าแต่มีต้นทุนในการบริหารจัดเก็บที่ต่ำกว่ามาใช้แทน
1.2 ภาษีสิ่งแวดล้อมทางอ้อม (Indirect Environmental Tax)
ภาษีสิ่งแวดล้อมทางอ้อมนี้จัดเก็บจากการใช้ปัจจัยการผลิตหรือหรือเก็บจากปริมาณการบริโภคสินค้า ภายใต้เงื่อนไขว่าการผลิตหรือการบริโภคดังกล่าวมีผลต่อการปลดปล่อยมลพิษที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ภาษีสิ่งแวดล้อมทางอ้อมจะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณการปล่อยมลพิษและจำนวนความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนเช่นกรณีของ Pigouvian tax แต่จะ ส่งผลต่อราคาโดยเปรียบเทียบของสินค้าที่ก่อ ให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม คือจะทำให้ราคาโดยเปรียบเทียบของสินค้าที่ถูกเก็บภาษีมีราคาแพงขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบทางอ้อมต่อปริมาณมลพิษและความเสียหายที่จะถูกปลดปล่อยจากการผลิตหรือการบริโภคสินค้านั้นๆ
การนำภาษีสิ่งแวดล้อมทางอ้อมมาใช้เนื่องมาจากเหตุผลสำคัญ 2 เหตุผล ได้แก่
(1) สัดส่วนของการใช้ปัจจัยการผลิตหรือสัดส่วนของการบริโภคคิดเป็นสัดส่วนที่คงที่ต่อจำนวนการปล่อยมลพิษ ซึ่งจะทำให้การจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมทางอ้อม ที่จัดเก็บบนฐานของการใช้ปัจจัยการผลิตหรือการบริโภคสามารถที่จะส่งผลต่อปริมาณการปล่อยมลพิษได้ในที่สุด
(2) อีกเหตุผลหนึ่งที่มีการนำภาษีสิ่งแวดล้อมทางอ้อมมาใช้ก็เนื่องจากการจัดเก็บภาษีบนปัจจัยการผลิตนั้นในบางกรณีอาจเป็นทางเลือกทางนโยบายที่ประหยัดต้นทุนในการบริหารจัดเก็บมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาษีประเภทอื่นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
ในส่วนของการวัดประสิทธิภาพของภาษีสิ่งแวดล้อมทางอ้อมพบว่า ภาษีสิ่งแวดล้อมทางอ้อมจะมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงไรก็ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างฐานภาษีกับจำนวนความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม โดยภาษีสิ่งแวดล้อมทางอ้อมจะมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับ Pigouvian tax ในการลดจำนวนการปลดปล่อยมลพิษก็ต่อเมื่อฐานภาษี (ซึ่งในที่นี้ได้แก่ปริมาณการใช้ปัจจัยการผลิตและจำนวนการบริโภคสินค้า) มีความสัมพันธ์ในลักษณะของการมีสัดส่วนที่คงที่ (fixed proportion) กับปริมาณมลพิษหรือปริมาณความเสียหายที่จะ ถูกปลดปล่อย และหากฐานภาษีสิ่งแวดล้อมทางอ้อมไม่มีความสัมพันธ์หรือมีความสัมพันธ์กับปริมาณความเสียหายน้อยเท่าไร ประสิทธิภาพของภาษีประเภทนี้ก็จะลดลงมากเท่านั้น
ตัวอย่างของภาษีสิ่งแวดล้อมทางอ้อม ที่ประเทศต่างๆได้มีการนำมาใช้กันได้แก่ Carbon tax และ petroleum tax
ในกรณีของ Carbon tax นั้น พบว่ามีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับ Pigouvian tax เนื่องจากฐานภาษีของ Carbon tax ซึ่งได้แก่ จำนวนเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuels) มีความสัมพันธ์ในสัดส่วนที่คงที่ต่อจำนวนความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม
Carbon tax มีการนำมาใช้เพื่อบรรเทาปัญหาโลกร้อนที่เกิดมาจากการปลดปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นผลมาจากการระเบิดของเชื้อเพลิงฟอสซิล (combustion of fossil fuels) หากเปรียบเทียบการใช้ Carbon tax กับ Pigouvian tax จะพบว่าในกรณีของการใช้ Pigouvian tax จะต้องเป็นการจัดเก็บภาษีจากปริมาณการปลดปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์โดยตรง แต่ไม่เก็บผ่านจำนวนเชื้อเพลิงฟอสซิลเหมือนกรณีของ Carbon tax อย่างไรก็ตามเนื่องจากสัดส่วนของ fossil fuels กับ การปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์มีสัดส่วนที่คงที่ ดังนั้น carbon tax และ Pigouvian tax จึงมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกันในการแก้ไขปัญหาการปลดปล่อยมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
ในกรณีของ Petroleum tax ซึ่งมีการ นำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศนั้น พบว่าไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับ Pigouvian tax เนื่องจากไม่ปรากฎความสัมพันธ์ในลักษณะสัดส่วนที่คงที่ระหว่างการใช้ปิโตรเลียมกับจำนวนความเสียหายหรือจำนวนมลพิษที่มีการปลดปล่อยออกมา
การที่ภาษีปิโตรเลียมไม่ได้เกี่ยวข้อง อย่างเป็นสัดส่วนคงที่กับการปล่อยมลพิษหรือของเสียต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากจำนวนมลพิษ ที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากยานพาหนะไม่ได้ขึ้นอยู่กับ combussion of fossil fuel อย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของยานพาหนะ ความเร็วในการขับเคลื่อน คุณภาพของถนน และปัจจัยอื่นๆอีกมากมาย ดังนั้นแม้การใช้ภาษีปิโตรเลียมจะมีส่วนช่วยลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมแต่ประสิทธิภาพของภาษีประเภทนี้ในการลดปริมาณมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมก็ยังน้อยเมื่อเทียบกับการใช้ Pigouvian tax นอกจากนี้จำนวนมลพิษที่ปลดปล่อยออกมาจากยานพาหนะยังสามารถลดลงได้จากปัจจัยอื่นๆ เช่นการลดจำนวน mile ของการขับเคลื่อนของยานพาหนะ การดูแลรักษายานพาหนะ ตลอดจนการปรับปรุงเทคโนโลยีของยานพาหนะอีกด้วย ซึ่งภาษีปิโตรเลียมซึ่งเป็นภาษีสิ่งแวดล้อมทางอ้อมไม่มีอิทธิพลใดๆต่อปัจจัยเหล่านี้เลย
1.3 ภาษีอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อสิ่งแวดล้อมโดยไม่เฉพาะเจาะจง
นอกจาก Pigouvian tax และ ภาษี สิ่งแวดล้อมทางอ้อมแล้ว ยังมีภาษีประเภทอื่นๆ ที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมโดยไม่ได้ตั้งใจหรือโดย ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น ภาษีสรรพสามิต หรือ ภาษีเงินได้ สำหรับภาษีสรรพสามิตนั้นพบว่า การเก็บภาษีสรรพสามิตบนผลิตภัณฑ์น้ำมันจะ ส่งผลกระทบโดยไม่เฉพาะเจาะจงต่อการลดปริมาณความเสียหายที่จะเกิดจากมลพิษต่อสภาพแวดล้อมได้ สำหรับภาษีเงินได้ก็เช่นกันสามรถมีผลโดยไม่เฉพาะเจาะจงต่อสิ่งแวดล้อม เช่นในกรณีที่มีการส่งเสริมให้มีการลงทุนในเทคโนโลยีหรือกิจกรรมทางการเกษตรที่เน้นทุนเป็นหลัก (capital intensive) ซึ่งอาจจะไม่เหมาะสมต่อรูปแบบในการทำการเกษตรและ ส่งผลให้มีการปลดปล่อยมลพิษมากขึ้นก็ได้ ในกรณีดังกล่าวภาษีเงินได้ก็จะส่งผลทางลบต่อการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
1.4 Earmarked tax
ภาษีประเภทนี้เป็นภาษีที่เก็บโดยมีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มรายรับเพื่อนำไปใช้ในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่จะเป็นการเก็บภาษีเพื่อให้กระทบต่อราคาโดยเปรียบเทียบของผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง ซึ่งจะแตกต่างจากการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมทางอ้อม ที่มุ่งเน้นให้การจัดเก็บภาษีมีผลกระทบต่อราคาโดยเปรียบเทียบของสินค้าที่มีผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อม
2.ปัจจัยที่มีผลต่อการนำภาษีสิ่งแวดล้อมมาบังคับใช้
ในการพิจารณาทางเลือกนโยบายในการปฏิรูประบบภาษีเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการรักษาสิ่งแวดล้อมนั้น มีปัจจัยสำคัญ 2 ปัจจัย ที่ต้องนำมาพิจารณา คือ
2.1 มาตรการจูงใจพิเศษหรืออัตราภาษีพิเศษที่อาจมีผลกระทบโดยไม่จงใจต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการที่ต้องมีการทบทวนระบบภาษีทั้งหมดนั้น ผู้ตัดสินนโยบายจะต้องพิจารณาว่ามีมาตรการจูงใจพิเศษหรืออัตราภาษีพิเศษอะไรบ้างหรือไม่ ที่อาจส่งผลทางลบโดยไม่จงใจต่อสิ่งแวดล้อม และควรจะต้องพิจารณาทบทวนหรือยกเลิกมาตรการดังกล่าวหรือไม่
2.2 การตัดสินใจเลือกนโยบายภาษี สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและต้นทุนต่ำ ปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่ผู้ตัดสินใจด้านนโยบาย จะต้องพิจารณาเมื่อจะนำภาษีที่กระทบต่อ สิ่งแวดล้อมมาใช้ คือการตัดสินใจว่าจะเลือกใช้ภาษีลักษณะใดจึงจะเหมาะสมและมีต้นทุนการบริหารจัดเก็บที่ต่ำ
ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างแนวทางและประเด็นที่ผู้ตัดสินใจด้านนโยบายจะต้องพิจารณาก่อนที่จะนำภาษีด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้ ดังนี้
2.2.1 ต้องพิจารณาข้อดีและข้อด้อยของทางเลือกภาษีแต่ละประเภท
• Pigouvian tax มีข้อด้อยคือการให้คำจำกัดความของ pigouvian tax ค่อนข้างยาก นอกจากนั้นการติดตามการจัดเก็บภาษีก็ทำได้ยากเช่นกัน โดยเฉพาะในการกำหนดอัตราภาษีที่เหมาะสมที่จะทำให้ต้นทุนทางสังคมของความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเท่ากับต้นทุนทางสังคมของ abatement
• ภาษีสิ่งแวดล้อมทางอ้อมอาจมีต้นทุนในการบริหารจัดเก็บที่ต่ำกว่า แต่จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมที่ต่ำกว่าเช่นกัน
2.2.2 ประเด็นเชิงมิติ เช่นสถานที่ และระยะเวลาของการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม
ประเด็นในเชิงมิติของปัญหาสิ่งแวดล้อมอาจส่งผลให้การออกแบบภาษีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมเป็นไปได้ยาก ยกตัวอย่างเช่น ต้นทุนของมลพิษทางอากาศจากการปล่อยของเสียจากรถยนต์จะสูงที่สุดในพื้นที่เมือง และยังขึ้นอยู่กับช่วงเวลาในแต่ละวันด้วยว่าช่วงใด ที่ต้นทุนจากการปล่อยมลพิษจะสูงที่สุด
2.2.3 ประเด็นปัญหาที่สืบเนื่องจากภาษีสิ่งแวดล้อม
การนำภาษีสิ่งแวดล้อมบางประเภทมาใช้อาจส่งผลให้เกิดความล้มเหลวในกลไกตลาด (Market Failure) ได้ เช่นในกรณีของการนำภาษีสิ่งแวดล้อมทางอ้อมมาใช้ ซึ่งปัญหาอาจเกิดขึ้นแม้ในกรณีที่เราสามารถทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนการใช้ปัจจัยการผลิตกับจำนวนการปล่อยมลพิษ เช่นในกรณีของการบังคับใช้ภาษีปิโตรเลียมกับประเทศที่ยากจนซึ่งในบางครั้งนำมาสู่ Market Failure
นอกจากนี้การนำภาษีสิ่งแวดล้อมมาใช้อาจไม่ก่อให้เกิดผลในการปรับปรุงกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการในอันที่จะนำไปสู่การลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมจากการผลิตของตน ในทางตรงข้ามผู้ผลิตมักจะผลักภาระภาษีสิ่งแวดล้อมดังกล่าวไปให้กับผู้บริโภคโดยเฉพาะผู้ผลิตที่ เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการผลิตเพื่อหากำไรสูงสุด ซึ่งมักจะผลักภาระ ภาษีสิ่งแวดล้อมที่ตนต้องรับภาระไปสู่ผู้บริโภค โดยไม่พิจารณาที่จะปรับปรุงกระบวนการผลิตของตน
2.2.4 ภาษีสิ่งแวดล้อมมักจะไม่ค่อยมีประสิทธิภาพในภาวะความไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการนำภาษีสิ่งแวดล้อมมาใช้ในขณะที่เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นในระบบเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเพราะภาษีจะไม่มีประสิทธิภาพในการช่วยลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
2.2.5 ความขัดแย้งทางด้านนโยบายของการนำภาษีสิ่งแวดล้อมมาใช้
การนำภาษีสิ่งแวดล้อมมาใช้อาจนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งในวัตถุประสงค์ที่รัฐบาลต้องการจะบรรลุ เช่นวัตถุประสงค์ในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมกับวัตถุประสงค์ด้านการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นบ่อยๆ คืออัตราภาษีที่กำหนดเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ใน การดูแลสิ่งแวดล้อมมักจะอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราภาษีที่ต้องจัดเก็บเพื่อบรรลุวัตุประสงค์ ทางด้านรายได้ หรือในบางกรณีการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมยังส่งผลกระทบต่อวัตถุประสงค์ในการกระจายรายได้ของรัฐบาลเนื่องจากภาษีสิ่งแวดล้อมอาจมีลักษณะถดถอย ทำให้คนจนต้องแบกรับภาระภาษีที่สูงกว่าคนรวย ซึ่งขัดแย้งกับหลักการในการใช้ภาษีเป็นเครื่องมือในการช่วยกระจายรายได้
3.ทิศทางในการนำภาษีสิ่งแวดล้อมมาใช้ในประเทศไทย
จริงๆ แล้ว ตั้งแต่ปี 2535 ประเทศไทย ได้เริ่มหันมาให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมมาก ยิ่งขึ้น โดยได้มีการออกพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและเห็นความจำเป็นที่จะต้องหันมาให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ และฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการกำหนดให้มีการกำกับดูแล และบทลงโทษ เพื่อควบคุมให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม พระราช-บัญญัติฉบับนี้ ไม่ได้เน้นที่การสร้างจิตสำนึก และแรงจูงใจให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้หันมาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้นแนวคิดเกี่ยวกับภาษีสิ่งแวดล้อมจึงเป็นแนวคิดที่จะเข้ามาเสริมหลักการของการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
ในปี 2548 กระทรวงการคลังได้ทำการ ยกร่าง พระราชบัญญัติภาษีสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ มีการจัดเก็บภาษีจากสินค้า บริการ และกิจการที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมีความเป็นระบบและชัดเจนมากยิ่งขึ้น นอกจากการยกร่างพระ-ราชบัญญัติภาษีสิ่งแวดล้อมแล้ว รัฐบาลไทยยังได้มีการกำหนดแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2550 - 2554 ซึ่งเป็นแผนระดับชาติในการจัดการสิ่งแวดล้อมในระยะ 5 ปี หลักการของแผนฯ นี้คือการสนับสนุนให้มีการนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการจัดการปัญหา สิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยให้กำหนดทิศทางการ จัดเก็บภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อมของหน่วยราชการต่างๆ ให้มีความเหมาะสมและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
จากกรอบการทำงานของแผนฯดังกล่าวทำให้มีความพยายามในการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำภาษีสิ่งแวดล้อมมาใช้ในประเทศไทย โดยที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐหลายแห่ง ได้ศึกษาและพยายามจัดทำกฎหมายด้านภาษีสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นเครื่องมือทางการคลังในการจัดการ สิ่งแวดล้อม เช่นการเก็บค่าธรรมเนียมการปล่อยมลพิษ (Emission Charge) จากโรงงาน หรือ การจัดการของเสียอันตรายจากผลิตภัณฑ์ที่ ใช้แล้ว เป็นต้น
ในการพิจารณาหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมนั้น จะเป็นไปตามหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pay Principal: PPP) คือจะเป็นการจัดเก็บภาษีกับผู้ที่สมควรมีหน้าที่รับผิดชอบจริงๆ นั่นก็คือผู้ก่อมลพิษ ไม่ใช่เป็นการจัดเก็บกับประชาชนที่ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นในการก่อให้เกิดมลภาวะ ผ่านการผลักภาระภาษีไปในราคาสินค้า นอกจากนี้ในการบริหารจัดการเงินภาษีสิ่งแวดล้อมที่จัดเก็บมาได้นั้น ควรจะนำใช้กับการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยต้องมีกรอบว่าจะมีการดำเนินการจัดสรรเงินภาษีอย่างไร และหน่วยงานใดที่ควรจะมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการจัดเก็บภาษี